นายวิมุติ บันทึกการเดินทางของนายวิมุติ โลกสีเขียว หลาน สหายลาดกระบัง

ล่องทะเลทรายโกบี คารวะจิ๋นซีที่ซีอาน เบิกบานใจเอ๋อจีน่า ลั้นลาฮั่วซาน

7-16 ตุลาคม 2556



ตุลาคม 2556

วันนี้ตื่นเจ็ดโมงกว่า ไม่เร่งรีบ เพราะเราไม่ได้จะไปไหนไกล วันนี้ยังอยู่ในซีอาน ซีอานเป็นเมืองเอกของมณฑลส่านซี มีความสำคัญคือเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของจีน แหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องเยือนให้ได้เมื่อมาถึงก็คือ ปิงหมาหย่ง หรือที่รู้จักกันในชื่อ สุสานทหารดินเผากองทัพจิ๋นซี วันนี้เราจะไปที่นั่นกัน

ก่อนอื่นเช้านี้ต้องไปที่สถานีรถไฟก่อน เพราะต้องไปจองตั๋วรถไฟสำหรับเดินทางในคืนนี้ ฝากสัมภาระหนัก กินข้าวเช้า แล้วค่อยหารถทัศนาจรไปปิงหมาหย่งอีกที

หน้าโรงแรม


ยืนคอยรถเมล




"มิ้นหิวแล้ว"










เข้าคิวซื้อตั๋ว






ได้ตั๋วมาแล้ว




อาหารเช้าที่ร้านหัวมุมแยกหน้าสถานีขนส่ง หน้าตาน่ากิน แต่อย่าเชื่อรูปลักษณ์ให้มากนัก อาหารมื้อนี้คือมื้อแห่งความทรงจำ รสชาติยอดแย่ ผมคีบกินแต่เนื้อ ส่วนเส้นกระเดือกไม่ลง ยิ่งกินยิ่งเพิ่ม คนอื่นสั่งรสอื่นต่างกันไป รสชาติก็ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะป้าอ้อยที่สั่งข้าวชุดมา รายนั้นข้าวแทบไม่พร่องเลย


ที่หน้าสถานีขนส่ง มีงานประมูลภาพเขียนลายมือเพื่อหาเงินเข้าการกุศล เจ้าของผลงานล้วนแต่เป็นคนระดับอาจารย์มีชื่อเสียง แม้แต่คนดูลายพู่กันไม่เป็นก็ยังสัมผัสได้ว่าเส้นสายแต่ละเส้นไม่ธรรมดา


เข้าคิวขึ้นรถโดยสารเพื่อไปปิงหมาหย่ง


ฉินสื่อหวงตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิ์องค์แรกของจีน และน่าจะถือว่าเป็นจักรพรรดิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนด้วย เป็นผู้มีปรีชาอย่างยิ่ง รวบรวมก๊กน้อยใหญ่ของจีนเข้าเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ เป็นผู้ดำริให้เชื่อมกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันภัยจากทางเหนือ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานชั่งตวงวัด กำหนดมาตรฐานความกว้างของล้อเกวียนทั่วแผ่นดิน เป็นผู้วางรากฐานและปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงเป็นเจ้าของสุสานที่ยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกันจิ๋นซีก็เป็นจักรพรรดิ์ทรราช จิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต จึงไม่แปลกที่ราชวงศ์ฉินสั้นมาก เมื่อราชสมบัติตกอยู่ในมือของจักรพรรดิ์ฉินเอ้อซื่อผู้เป็นลูก ก็ถูกปฏิวัติโค่นล้มไป

แม้ราชวงศ์ฉินจะสูญสลายไปนานแล้ว แต่ความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์นี้ยังไม่จางหายแม้จนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่เราเอ่ยชื่อประเทศนี้ เรากำลังเรียกชื่อราชวงศ์ฉิน คำว่า จีน ที่คนไทยเรียก รวมถึง China ที่ฝรั่งเรียก ก็ล้วนแต่มีที่มาจากคำว่า ฉิน ซึ่งเป็นราชวงศ์ของจิ๋นซีนั่นเอง

เรานั่งรถทัศนาจรกันมาแค่ชั่วโมงเศษก็ถึงปิงหมาหย่งแล้ว ปิงหมาหย่ง (兵马俑) ไม่ใช่สุสานจิ๋นซี แต่เป็นที่ที่ขุดพบหุ่นดินเผาซึ่งตั้งให้เป็นกองทัพเฝ้าสุสาน ตัวสุสานจิ๋นซีเป็นเนินดินรูปพีระมิดแบน ๆ อยู่ห่างจากปิงหมาหย่งออกไปกิโลกว่า ๆ เราไม่ได้ไป และคิดว่าคงไม่มีอะไรสวยงามให้ดู

ป้ายหน้าร้านอาหารหลายร้านในละแวกนี้ มีอักษรพิลึกกึกกือขนาดยักษ์อยู่อย่างสะดุดตา อักษรตัวนี้อ่านว่า เปี๋ยง หมายถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่งของมณฑลส่านซี อักษรเปี๋ยงนี้เป็นอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ ประกอบด้วยขีดมากถึง 58 ขีด ไม่ใช่อักษรมาตรฐานของจีน ไม่มีรหัสยูนิโคด ไม่ปรากฏในพจนานุกรมจีน ไม่มีแม้แต่ในพจนานุกรมภาษาถิ่นของส่านซี แต่กลับพบอักษรนี้ได้ทั่วไปตามท้องถนน 


อนุสาวรีย์จิ๋นซีฮ่องเต้ หน้าปิงหมาหย่ง


แบบจำลองแสดงบริเวณสุสาน ส่วนที่เป็นหลุมเก็บหุ่นดินเผากองทัพจิ๋นซีที่เราอยู่นี้ ไม่ใช่ส่วนสุสาน ส่วนสุสานอยู่ไกลออกไปใต้เนินดินรูปพีระมิดเตี้ย ๆ ที่อยู่ข้างหลัง 


ใน พ.ศ. 2517 ชาวนาจำนวนหนึ่งขุดบ่อเพื่อหาน้ำ แล้วบังเอิญพบเศษกระเบื้องดินเผา การค้นพบครั้งนั้นกลายมาเป็นการพบกองทัพดินเผาที่ใหญ่ที่สุดของจีนแห่งนี้ นักโบราณคดีสืบสาวราวเรื่องได้ว่า กองทัพดินเผานี้สร้างขึ้นแล้วถูกฝังไปพร้อมกับร่างของจักรพรรดิ์ หรือเมื่อราว 210-209 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรืออาจทำขึ้นหลังการสวรรคตของจิ๋นซีไม่กี่ปี

ปิงหมาหย่ง มีหลุมที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสามหลุม เรียก หลุมหนึ่ง หลุมสอง หลุมสาม แต่ละหลุมมีอาคารครอบอย่างมั่นคงแข็งแรง เราเข้าดูที่หลุมหนึ่งก่อนเป็นอันดับแรก 

หลุมหนึ่ง








ส่วนท้าย ๆ แถว ยังกองก่ายกันระเนระนาดอยู่




หลุมทั้งสามมีโครงสร้างคล้ายกัน หุ่นทหารอยู่ลึกลงไปจากพื้นดินปัจจุบันประมาณ เมตร ลานที่เก็บหุ่นทหารจะแบ่งออกเป็นซองหลายซองขนานกันเหมือนเข้าแถวตอนหมู่ แต่ละซองคั่นด้วยกำแพงดินหนา พื้นลานปูด้วยอิฐดินเผา มีซุงใหญ่ตั้งเป็นเสาค้ำหลังคาที่ทำด้วยซุงพาดปิดทับด้านบน เหนือคานคลุมด้วยเสื่ออีกหลายชั้นก่อนกลบทับด้วยดิน



หุ่นทุกตัวเกิดจากการปั้นด้วยมือ แต่ละตัวจึงมีลักษณะเฉพาะ ใบหน้าไม่เหมือนกันเลยแม้แต่ตัวเดียว








หุ่นทุกตัวที่เห็นมีสีเหมือนสีดินธรรมดาจืด ๆ แต่เดิมหุ่นเหล่านี้มีสีสันฉูดฉาดสดใส เมื่อหุ่นถูกขุดขึ้นมาใหม่ ๆ ยังปรากฏสีดั้งเดิมติดอยู่ แต่เมื่อสีสัมผัสถูกอากาศ ก็จะเริ่มร่อนหลุดไป หรือไม่ก็ซีดจางอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่มาตั้งแต่เริ่มการขุดค้น ใหญ่เสียจนกระทั่งทางการต้องหยุดการขุดไปเป็นเวลาหลายปี เพื่อรอจนกว่าจะมีเทคโนโลยีรักษาสีเอาไว้ได้

จนเมื่อไม่นานมานี้เอง มีข่าวว่านักวิทยาศาสตร์จีนร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์เยอรมันคิดวิธีรักษาสีของหุ่นได้สำเร็จ การขุดค้นจึงเริ่มดำเนินต่อไปได้ การมาชมปิงหมาหย่งคราวนี้ผมก็คาดหวังว่าจะได้เห็นหุ่นในแบบฉูดฉาดให้เป็นบุญตาบ้าง แต่ตั้งแต่เดินมาก็ยังไม่เห็นหุ่นแบบที่ว่าเลยสักตัว





ท้ายของหลุม เป็นพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ มีหุ่นที่ยังอยู่ระหว่างบูรณะหลายตัว 




ตัวนี้สียังอยู่




ลวดลายของเสื่อที่กดทับอยู่ในชั้นดิน เป็นส่วนที่เป็นเพดานของโรงเก็บหุ่นทหาร (ถ่ายจากโปสเตอร์)


ผมเดินชมหลุมหนึ่งอยู่นานทีเดียว เดินไปเดินมา สังเกตสังการอยแตกรอยร้าว ใบหน้าของหุ่นแต่ละตัว อ่านป้าย ถ่ายรูปทุกรูขุมขน เสียเวลาไปนานโข นานจนลืมพรรคพวกเสียสนิท กว่าจะนึกได้หันซ้ายหันขวาก็ไม่เจอใครแล้ว คนอื่นเขาออกไปยืนรอเหงือกแห้งอยู่นอกประตูหลุมหนึ่งนานแล้ว

ออกจากหลุมหนึ่งก็เข้าไปที่หลุมสามก่อน เพราะอยู่ใกล้ที่สุด หลุมสามนี้มีขนาดเล็ก มีหุ่นอยู่น้อย เดินไม่นานก็ครบรอบ

หลุมสามถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2519 และเริ่มขุดเป็นครั้งแรกในปีถัดมา แต่ต่อมาก็ต้องกลบไว้ชั่วคราว จนกระทั่งปี 2531 การขุดจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่อาคารครอบหลุมสร้างเสร็จสมบูรณ์ หลุมนี้มีขนาดเล็ก กว้างยาวเพียงประมาณ 20-30 เมตรเท่านั้น สภาพโดยรวมของหลุมสามถูกทำลายไปมาก พบหุ่นในหลุมนี้เพียง 68 ตัว รถม้าหนึ่งคัน และอาวุธที่ทำด้วยสำริด 34 ชิ้น









เผยแพร่ : 13 พ.ย. 56 แก้ไขครั้งล่าสุด : 16 พ.ย. 64